ข้อมูลวัฒนธรรม

ผีไทย

ประเภท

จับต้องได้

หมวดหมู่

วัฒนธรรมการแต่งกาย

ชื่อผลงาน

ARTHICHEN

เนื้อหา

ราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554 ได้ให้ความหมายของ “ผี” ว่าหมายถึง สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือให้โทษได้ หรืออีกความหมายหนึ่ง คือใช้เรียกคนที่ตายไปแล้ว “ผี” แต่หากพูดถึงผีตามความเข้าใจของคนทั่วไปในสังคมไทยส่วนใหญ่ คือสิ่งลี้ลับที่สร้างความหวาดกลัวให้กับมนุษย์ที่มีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน ผู้คนทั่วโลกทุกชาติพันธุ์ต่างมีเรื่องราวและตำนานความเชื่อเกี่ยวกับผีทั้งสิ้น รวมไปถึงประเทศไทยด้วย โดยความเชื่อเรื่องผีของไทยนั้น จะผูกติดอยู่กับวิถีชีวิต รากเหง้าทางวัฒนธรรมและความเชื่อต่างๆ โดยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า สังคมไทยมีความเชื่อเรื่องผี หรือสิ่งลี้ลับมาตั้งแต่เมื่อไร หากแต่ต้นเหตุหนึ่ง เกิดขึ้นจาก “ความกลัว” นั้นเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อาทิ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ไฟป่า แผ่นดินไหว ที่ผู้คนไม่มีความรู้มากพอและยังไม่สามารถหาคำตอบของปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้นได้ จึงเกิดความเชื่อว่าเป็นการกระทำของผีหรือสิ่งลี้ลับ นำไปสู่การการหาทางออกเพื่อสยบความกลัวเหล่านั้น เป็นที่มาของเหล่าบรรดา “ความเชื่อ” และพิธีกรรมต่างๆ เรื่องราวเหล่านี้ พัฒนาการมาถึงความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย วิญญาณ และผี ยิ่งต่อมาสังคมเกิดการรวมกลุ่มเป็นชุมชน หมู่บ้าน ความเชื่อเหล่านี้ยิ่งเกิดการกระจายต่อ นานวันเข้า จึงฝังในรากเหง้า และอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย ปรากฏให้เห็นได้ตามประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ที่มักมีเรื่องราววิญญาณ และสิ่งลี้ลับ เหนือธรรมชาติ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
ผีไทยอาจแบ่งได้หลายอย่าง เช่น แบ่งตามลักษณะของการให้คุณให้โทษ หรือแบ่งตามภาคต่างๆ ผีไทยที่เป็นที่รู้จักเช่น ผีบ้านผีเรือน ผีเจ้าที่ ผีบรรพบุรุษ ผีปอบ ผีกระสือ ผีกระหัง กุมารทอง นางกวัก เป็นต้น

ผลงานต่อยอด

ชาวไทยเชื่อว่า ผีสามารถให้คุณหรือให้โทษได้ หากเซ่นสวรวงหรือบูชาไม่ถูกต้อง เช่น ผีขุนน้ำ คือ เทพอารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย ซึ่งสถิตอยู่บนดอยสูง ผีขุนน้ำมักอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านจะอัญเชิญมาสถิตที่หอผีที่ปลูกอย่างค่อนข้างถาวรใต้ต้นไม้เหล่านี้ ผีขุนน้ำที่อยู่ต้นแม่น้ำใด ก็มักจะได้ชื่อตามแม่น้ำนั้น เช่น ผีปันน้ำ (เทือกเขาผีปันน้ำ ในภาคเหนือ) หรือผีมด และ ผีเมง คือ ผีบรรพบุรุษตามความเชื่อของชาวล้านนา (คำว่า “มด” หมายถึงระวังรักษา) ส่วนผีเมงนี้เข้าใจกันว่ารับมาจากชนเผ่าเม็งหรือมอญโบราณ, ผีเจ้าที่ หรือพระภูมิเจ้าที่ คือผีที่รักษาประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เป็นผู้ดูแลรักษาเขตนั้นๆ ดังนั้น คนโบราณเมื่อเดินทางและหยุดพักที่ใด มักจะบอกขออนุญาตเจ้าที่ทุกครั้ง

นอกเหนือไปจากผีดังกล่าวแล้ว ในแต่ละท้องถิ่นยังมีผีอีกหลายประเภท เช่น ผีกละ หรือ ผีจะกละ เป็นผีที่มักเข้าสิงผู้คนเพื่อเรียกร้องจะกินอาหาร เมื่อเข้าสิงใคร ก็จะแสดงกิริยาผิดปกติไป เมื่อคนสังเกตเห็นก็มักร้องขอกินอาหารและจะกินอย่างตะกละตะกลาม จึงเรียกผีกละตามลักษณะการกิน แต่มักเขียนเป็นผีกะ หรือผีกละยักษ์ เป็นผีที่อยู่รักษาสถานที่ต่างๆ เช่น วัดร้าง, ถ้ำ หรือที่ซึ่งมีสมบัติฝังหรือซ่อนอยู่ ผีกละยักษ์จะคอยพิทักษ์สมบัติเหล่านั้น จนกว่าเจ้าของจะรับทรัพย์สินเหล่านั้นไป ในกรณีผีกละยักษ์ที่อยู่ในวัด เล่ากันว่า มักจะเป็นวิญญาณของพระหรือเจ้าอาวาสที่ผิดวินัย เมื่อตายแล้วไปเกิดไม่ได้ จึงต้องทำหน้าที่พิทักษ์วัดไปจนกว่าจะสิ้นกรรม รูปร่างของผีกละยักษ์ไม่แน่นอน บ้างก็ว่าเป็นหมูตัวใหญ่ที่มีร่างกายเป็นทองแดง บ้างก็ว่าเป็นสุนัขใหญ่สีดำสนิททั้งตัว เป็นต้น

ผี มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวไทยมาแต่โบราณ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย จนเกิดเป็นข้อห้าม หรือคะลำ ในภาษาอีสานต่างๆ ที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคไป เช่น ห้ามกินเลือด, ห้ามเลี้ยงนกฮูก, นกเค้าแมว, นกแสก, และค้างคาว, ห้ามเคาะจานข้าว, ห้ามกวาดบ้านตอนกลางคืน หรือห้ามเผาศพในวันศุกร์ เป็นต้น

บุลคล/กลุ่มผู้ให้ข้อมูล

1. นายสทธิกร แก้วมณี
2. นายอัครวัฒน์ วงศ์ไชยลึก
3. นายณัฐนันท์ สิมะขจรเกียรติ
4. นางสาวปัณฑิตตา เวทย์ปัญญา

ที่อยู่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200