ทีม Fash.Design คว้ารางวัลสูงสุด การแข่งขัน “อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล”

ทีม Fash.Design คว้ารางวัลสูงสุด การแข่งขัน “อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล” 

รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดการแข่งขันรอบสุดท้าย Grand Pitching พร้อมตัดสินและมอบรางวัลให้กับ 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากกิจกรรมแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ “Hackulture 2023 illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล” ซึ่งเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ประชันไอเดีย แฮกแฟชั่นไทยด้วยวัฒนธรรมและดิจิทัลคอนเทนต์ ปลุกพลัง Soft Power ไทย ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท และโอกาสนำเสนอผลงานต่อผู้บริหารองค์กรด้านดิจิทัลชั้นนำของประเทศ ลุ้นเติบโตเป็น Start-Up ในอนาคต โดยทีมที่คว้ารางวัลสูงสุดจากการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ ทีม Fash.Design รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในงานฯ กล่าวเปิดงานว่า “การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ “Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล” มุ่งเน้นในด้านแฟชั่น เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง เครื่องประดับ อัญมณี หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ดังนั้นการถ่ายทอดแฟชั่นไทยสู่รูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือสื่อมัลติมีเดีย ถือเป็นแนวทางในการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ทุกคนเห็นคุณค่าและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งส่งเสริม พัฒนาบุคลากรด้าน Digital Content เตรียมพร้อมรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ”

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. มีพันธกิจในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้ตระหนักถึงการกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content โดยมองว่า       การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบเนื้อหาดิจิทัล หรือ Digital Content อย่างสร้างสรรค์ เป็นการผลิตสื่อดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ช่วยธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น”

Hackulture 2023 illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล จัดแข่งขัน 2 สาขาด้วยกัน คือ   1) สาขาเทคโนโลยี 2) สาขาสื่อมัลติมีเดีย โดยแต่ละสาขา จัดแข่งขัน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา (มัธยม / ปวช. / ปวส. / ปริญญาตรี) และระดับประชาชนทั่วไป (ประชาชนทั่วไป / ปริญญาโท / ปริญญาเอก)

กิจกรรมดังกล่าว เปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-30 กันยายน 2566 มีผู้ส่งผลงานทั้งหมด 60 ทีม ซึ่งมีการคัดเลือกจำนวน 40 ทีม เพื่อเข้าสู่กิจกรรม Boot Camp 3 วัน (27-29 ตุลาคม 2566) ตามด้วยการปั้นผลงานจริงร่วมกับ Mentor จนสำเร็จ และนำเสนอผลงาน Pitching ครั้งแรกต่อคณะกรรมการ (16-17 ธันวาคม 2566) ซึ่งผ่านการคัดเลือกจนได้ 12 ทีมสุดท้าย เพื่อร่วมแข่งขันในรอบ Grand Pitching โดยแต่ละสาขา มีทีมเข้ารอบสุดท้าย ในแต่ละระดับ จำนวน 3 ทีม รวมทั้งสิ้น 12 ทีม 

ทีมที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากผลงานทั้ง 12 ทีม ได้แก่ ทีม Fash.Design ซึ่งส่งผลงานเข้าแข่งขันในสาขาเทคโนโลยี ระดับประชาชนทั่วไป นำเสนอแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดไทยท้องถิ่นและชุดไทยดั้งเดิม ที่ขาดทักษะด้านออนไลน์และภาษาต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยี AI สร้าง Virtual Model และดิสเพลย์ที่สวยงาม แปลได้ 70 ภาษา และเชื่อมต่อ e-commerce กว่า 30 แพลตฟอร์มทั่วโลก ปลุกพลัง Soft Power แฟชั่นไทย ก้าวไกลสู่ตลาดสากล ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ส่วนผลการตัดสินทั้งหมด และรางวัลต่าง ๆ  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สาขาเทคโนโลยี ระดับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา (มัธยม / ปวช. / ปวส. / ปริญญาตรี) 

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 4DEV มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม The Board ThaiGuideGame สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง/ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ Metempta มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 

สาขาเทคโนโลยี ระดับประชาชนทั่วไป 

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Fash.Design 
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Fashion Verse 
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม DM-TRU Warrior

สาขาสื่อมัลติมีเดีย ระดับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา (มัธยม / ปวช. / ปวส. / ปริญญาตรี) 

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Y2Thai มหาวิทยาลัยศิลปากร 
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Thai Style มหาวิทยาลัยหาดใหญ่  
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม Cocoon มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

สาขาสื่อมัลติมีเดีย ระดับประชาชนทั่วไป 

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม CrowdMart Thailand  
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม FA DPU 
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม Moody(มูดี้)